สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (Nutritive sweeteners) กับไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (Non-nutritive sweeteners) ต่างกันอย่างไร
สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (Nutritive sweeteners) คือสารให้ความหวานที่เป็นกลุ่มของน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทราย กลูโคส ฟรุกโทส เป็นต้น หรือสารให้ความหวานตามธรรมชาติ เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว เป็นต้น ซึ่งสารให้ความหวานในกลุ่มนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของคาร์โบไฮเดรตซึ่งถือว่ามีคุณค่าทางโภชนาการ และให้พลังงานต่อร่างกาย โดยน้ำตาล 1 กรัมจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ ดังนั้นสารให้ความหวานในกลุ่มนี้อาจจะต้องมีการควบคุมในเรื่องของการบริโภคทั้งนี้หากร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินความต้องการ ร่างกายจะเก็บสะสมและจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปของไขมันสะสมตามร่างกายซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้น้ำตาลแอลกอฮอล์ก็จัดอยู่ในกลุ่มของสารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการถึงแม้ว่าน้ำตาลแอลกอฮอล์บางประเภทจะให้พลังงานค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับน้ำตาลชนิดอื่นๆ
สารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (Non-nutritive sweeteners) ซึ่งเป็นกลุ่มของสารให้ความหวานสังเคราะห์ (Artificial sweeteners) เช่น ซูคราโลส (Sucralose), เอสปาแทม (Aspartame) เป็นต้น ซึ่งไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มของคาร์โบไฮเดรต และที่สำคัญคือเป็นสารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย (Zero-calorie sweeteners) โดยสารให้ความหวานในกลุ่มนี้จะมีความหวานค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับน้ำตาลทราย เช่น ซูคราโลสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 600 เท่า ดังนั้นปริมาณการใช้หรือการบริโภคจะค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายที่ต้องการความหวานเท่ากัน จึงเป็นข้อดีในการลดปริมาณการบริโภคน้ำตาล สารให้ความหวานในกลุ่มนี้จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่มที่ต้องควบคุมเรื่องของแคลอรี่หรือพลังงานที่ร่างกายต้องได้รับ นอกจากนี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเนื่องจากสามารถลดต้นทุนการผลิตได้
สารให้ความหวานในแต่ละกลุ่มจะมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกันไป ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรต้องพิจารณาเลือกชนิดและควบคุมปริมาณในการบริโภคให้เหมาะสมกับสุขภาพของตัวเองซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
บทความโดย ดร.บุญทิวา นิลจันทร์