สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำตลาดหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สั่นคลอน ต้องบอกก่อนว่าสงครามรอบนี้ไม่ได้กระทบราคาน้ำตาลตรงๆ เพราะน้ำมันดิบ ข้าวสาลีจะกระทบหนักกว่า แต่ถ้าสงครามยืดเยื้อ ก็จะส่งผลทางอ้อมต่อราคาน้ำตาลได้
เพราะที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลโลกก็พุ่งกว่า 20% แยู่แล้ว และเป็นราคาที่พุ่งติดต่อกันเป็นปีที่สี่ และยังคงไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ
ปัจจัยทางอ้อมที่จะส่งผลต่อราคาน้ำตาลมีอะไรบ้าง TODAY Bizview สรุปมาให้แล้วในบทความนี้
[ สถานการณ์ราคาน้ำตาล ]
ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตอนนี้ยูเครนจะระงับการส่งออกน้ำตาลและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อีกหลายรายการ แต่ยูเครนไม่ใช่ผู้ค้าน้ำตาลรายใหญ่ จึงไม่ได้กระทบทั่วโลกมากเท่าพวกแป้งสาลี น้ำมันดิบ
ข้อมูลจากการประชุมสารให้ความหวานนานาชาติ (International Sweetener Colloquium) คาดการณ์ว่า ราคาของส่วนผสมอาหารส่วนใหญ่มีแนวโน้มในขาขึ้น (bullish price)
และยังคาดกันว่าราคาน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จะขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2565-2566
โดยล่าสุด องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Organization) ประเมินตัวเลขตลาดน้ำตาลของยูเครนในปี 2564-2565 ซึ่งยูเครนผลิตน้ำตาล 1,450,000 ตัน และบริโภค 1,150,000 ตัน ส่วนการนำเข้าของน้ำตาลอยู่ที่ 40,000 ตัน และส่งออกอยู่ที่ 3,000 ตัน รวมไปถึงสต็อกคงเหลือปลายงวดสิ้นสุดที่ 1,342,000 ตัน
ส่วนรัสเซียคาดการณ์ว่าผลิตน้ำตาล 5,700,000 ตัน และบริโภค 5,780,000 ตัน ส่วนจำนวนการนำเข้าและส่งออกเท่ากันอยู่ที่ 100,000 ตัน และสต็อกคงเหลือปลายงวดสิ้นสุดที่ 1,958,000 ตัน
[น้ำมันดิบ ผลกระทบทางอ้อมต่อราคาน้ำตาล ]
หากมองปัญหาสงครามที่เกิดกับสินค้าโภคภัณฑ์ ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ ราคาข้าวสาลีและราคาน้ำมันดิบ เพราะรัสเซียและยูเครนมีอุปทานรวมกันประมาณ 29% ของตลาดข้าวสาลีทั่วโลกและรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่เป็นอันดับสองรองจากซาอุดีอาระเบีย
ราคาน้ำมันดิบตอนนี้ พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทางอ้อมต่อราคาน้ำตาล เพราะถ้าราคาพลังงานมีมูลค่าที่สูงขึ้น ความต้องการของเอทานอล ซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ก็อาจจะเพิ่มขึ้นและทำให้การส่งออกน้ำตาลน้อยลง และราคาก็จะแพงขึ้นไปอีก
สำหรับราคาข้าวสาลี ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะทั้งรัสเซีย และยูเครนมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 29% ของการส่งออกทั่วโลก และการส่งออกหยุดชะงักเนื่องจากท่าเรือส่งออกในทะเลดำหลายแห่งปิดอยู่
[ บราซิลแหล่งผลิตน้ำตาลโลก ก็อาจไม่รอด]
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังน้ำมันแพงอยู่ที่บราซิล เพราะบราซิลเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก
อ้อยถูกนำมาใช้ในการผลิตเอทานอลอยู่ที่ 55% ส่วนอีก 45% นำไปใช้ผลิตน้ำตาล ทั้งสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และการนำเข้า-ส่งออกทั่วโลก
บราซิลยังประกาศปรับลดภาษีการนำเข้าเอทานอล น้ำตาล และน้ำมันถั่วเหลือง เพื่อที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อของบราซิลในปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงหลักสิบแล้วด้วย
[ ต่อจากน้ำตาล คือข้าวโพดและถั่วเหลือง ]
ราคาพลังงานแพง อาจส่งผลต่อราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองด้วย ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้ข้าวโพดประมาณ 35% ในการผลิตเอทานอล และใช้น้ำมันถั่วเหลืองมากกว่า 40% สำหรับไบโอดีเซลหรือน้ำมันดีเซลหมุนเวียน ซึ่งน่าจะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจในประเทศไม่น้อย
ส่วนผู้ใช้น้ำตาลทั่วๆ ไป ก็จะเจอผลกระทบด้วย โดยเฉพาะวงการขนม เบเกอรี่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเผชิญกับราคาข้าวสาลีที่เกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และถ้าน้ำตาลขึ้นมากกว่านี้ ก็จะยิ่งซ้ำเติมหนักขึ้นไปอีก
สรุปแล้ว ถึงแม้น้ำตาลจะไม่ใช่ส่วนผสมที่ถูกใช้ในปริมาณมากเมื่อเทียบกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ และไม่ใช่สินค้ารายการแรกๆ ที่เจอผลกระทบตรงๆ เท่าข้าวสาลี น้ำมัน แต่ถ้าสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ราคาของน้ำตาลอาจจะพุ่งสูงจนทำสถิติใหม่ได้ และอาจจะมีสินค้าอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
ที่มา: https://workpointtoday.com/sugar-prices-hike/