โดย ดร. สุพัตรา กาญจนประทุม,
ผศ. จิราภรณ์ สิริสัณห์ , รศ.ดร. ประพันธ์
ปิ่นศิโรดม
คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สารให้ความหวานจากธรรมชาติ
เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน หยิบจับอะไรก็มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต การออกกำลังกายและอาหารการกิน เราจึงได้เห็นสินค้าอาหารสุขภาพแปลก ๆ ใหม่ ๆ มาให้ได้ลองรับประทานกันมากขึ้นทุกปี และหนึ่งในเทรนด์อาหารสุขภาพที่ขาดไม่ได้เลย คงหนีไม่พ้นการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล (Sugar substitute) ซึ่งมีทั้งแบบให้พลังงานอย่าง ฟรุกโทส มอลทิทอล ซอร์บิทอล และไซลิทอล และแบบไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำ เช่น ซูคราโลส แอสปาแตม อะซิซัลเฟม-เค แซคคารีนหรือที่เรียกว่าขัณฑสกร เป็นต้น แต่จะรักสุขภาพทั้งทีก็ต้องเลือกหวานสุขภาพดีและใส่ใจการใช้สารให้ความหวานสังเคราะห์ด้วย ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับ “สารให้ความหวานจากธรรมชาติ” เพื่อสุขภาพที่ดีดีกว่า
1. หญ้าหวาน เป็นหนึ่งแหล่งความหวานยอดนิยมในปัจจุบัน หญ้าหวาน หรือที่เรียกติดปากกันว่า “สตีเวีย” (Stevia) ซึ่งได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) สามารถให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 250-300 เท่า เป็นความหวานที่ปราศจากแคลอรี และไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลในร่างกาย ไม่สะสมในร่างกาย จึงเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือผู้ป่วยเบาหวาน หญ้าหวานมีความทนทานต่อกรดและความร้อน ไม่ถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ และไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาสีน้ำตาลเมื่อผ่านความร้อนสูง ทำให้มีการนำไปใช้ในการผลิตอาหารหรือเครื่องดื่มหลายชนิด
2. น้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลโตนด นอกจากจะมีกลิ่นและรสชาติที่หอมหวาน น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลโตนด ถือเป็นอาหารกลุ่มที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำคือ 35 จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้นเร็วจนเกินไป ดังนั้นจะทำให้อินซูลินเพิ่มระดับอย่างช้าๆ ทำให้รู้สึกอิ่มนาน เป็นแหล่งความหวานที่ให้แคลอรี่ต่ำกว่าน้ำตาลทั่วไป และมีโพแทสเซียมช่วยควบคุมความดันและน้ำตาลในเลือดด้วย ยิ่งไปกว่านั้นน้ำตาลมะพร้าวยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ รวมทั้งวิตามินบางชนิดที่น้ำตาลทรายแดงไม่มี ความหวานจากน้ำตาลมะพร้าวเป็นความหวานแบบสดชื่นที่ช่วยลดอาการอ่อนเพลียให้ร่างกายได้อีกด้วย
3. หล่อฮั้งก้วย (Monk Fruit) มีสารที่เรียกว่าโมโกรไซด์ (Mogrosides) ซึ่งมีความหวานกว่าน้ำตาลประมาณ 150-300 เท่า ถือได้ว่าเป็นพืชจีนโบราณที่มีสรรพคุณทางยา เป็นความหวานที่ไม่ต้องทำให้กังวลเรื่องแคลอรี่ ปัจจุบันจึงนิยมนำหล่อฮั้งก้วยมาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเช่นเดียวกับหญ้าหวาน แต่มีดีกว่าตรงที่มีกลิ่นที่หอมหวานเหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักซึ่งหล่อฮังก้วยได้รับการรับรองโดย USFDA หล่อฮั้งก้วยมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญอย่างไกลโคไซด์ (Glycosides) และซาโปนิน (Saponins) ที่มีผลในการส่งเสริมสุขภาพต่างๆ และช่วยป้องกันการหลั่งฮีสตามีนซึ่งเป็นสาเหตุของอาการแพ้อีกด้วย
4. ชะเอมเทศ (Albizia myriophylla Benth) มีสรรพคุณช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง ช่วยให้สดชื่น รากของชะเอมเทศมีสารไกลไซร์ริซิน (Glycyrrhizin) หรือกรดไกรซีร์ริซิก (Glycyrrhizic acid) ที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50-100 เท่า จึงมีการนำรากชะเอมเทศไปใช้ปรุงแต่งรสอาหาร ปรุงยาสมุนไพร หรือใช้เพิ่มรสหวานในขนมและลูกอมได้ แต่ชะเอมเทศไม่นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และไม่ควรใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ
5. น้ำผึ้ง ศาสตร์ทางการแพทย์ของหลายประเทศใช้น้ำผึ้งในการรักษาอาการป่วย ลดอาการอักเสบและโรคผิวหนังต่างๆ ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ช่วยบำรุงสมองและความงาม ในทางเคมีนั้นน้ำผึ้งมีสารประกอบหลัก ๆ ที่เหมือนกันกับน้ำตาลทราย คือ “กลูโคส” และ “ฟรุกโตส” แต่ต่างกันตรงที่น้ำผึ้งมีน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ร่างกายจึงสามารถดูดซึมไปใช้ได้เร็ว นอกจากนี้น้ำผึ้งยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระด้วย น้ำผึ้งจึงถือว่าเป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ดีชนิดหนึ่ง แต่ด้วยแคลอรี่ที่สูงกว่าน้ำตาลทราย จึงควรระวังปริมาณในการรับประทานสักหน่อยอย่าให้มากเกินไปเท่านั้นเอง
สารให้ความหวานจากธรรมชาติถือได้ว่าเป็น “ความหวานทางเลือก” ที่เหมาะกับกลุ่มคนรักสุขภาพ แต่ก็ต้องคำนึงถึงปริมาณพลังงาน ไลฟ์สไตล์และสุขภาพของผู้บริโภคด้วย ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีได้นั้นก็ต้องควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพแบบอื่นๆ ควรบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส และพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ท่านก็จะมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี รูปร่างสมส่วนได้โดยไม่ตกเทรนด์แล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ, สถาบันการแพทย์แผนไทย, ittm.dtam.moph.go.th/data_all/herbs/herbal09.htm stevia,www.docstoc.com/docs/84482312/Stevia—PDF, www.biorichsweet.com, เอกสารเผยแพร่กระทรวงสาธารณะสุข สำนักงานอาหารและยา, Networx.com, บทความสุขสารระ,http://www.pharmacy.mahidol.ac.th (คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล)